การพัฒนาวิธีวิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

เนื่องจากมีคราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน (tar ball) และทรายปนเปื้อนบริเวณชายฝั่งทั้งทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล สุขภาพของประชาชนและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในชุมชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถตรวจพิสูจน์ทราบแน่ชัดว่าน้ำมันที่พบเป็นชนิดใด มาจากแหล่งใด และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งควรมีมาตรการวางแผนอย่างไรเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำในอนาคต ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ด้านการวิเคราะห์น้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2554 หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในอ่าวไทย วิทยาลัยฯ โดยการสนับสนุนจากบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) จึงได้ศึกษาและพัฒนากระบวนการพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมันด้วยวิธีสากล โดยการวิเคราะห์สารไบโอมาร์กเกอร์ซึ่งเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของน้ำมัน ที่สามารถบ่งชี้ชนิดและแหล่งกำเนิดได้หากมีฐานข้อมูลลายนิ้วมือของน้ำมันที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดได้ ด้วยสารไบโอมาร์กเกอร์เป็นสารที่คงทนไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมเช่นในทะเล สำหรับเครื่องมือหลักในการวิเคราะห์สารไบโอมาร์กเกอร์นั้นจะใช้เครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโตรมิเตอร์แบบ 2 มิติ (GCxGC TOFMS) เนื่องจากเป็นเทคนิคเดียวที่สามารถแยกสารไบโอมาร์กเกอร์ที่มีองค์ประกอบซับซ้อนได้ดี ให้ผลที่ถูกต้อง แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดีในการที่จะวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อบ่งชี้ที่มาของน้ำมัน หรือก้อนน้ำมันดิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีฐานข้อมูลลายนิ้วมือ และคุณสมบัติอื่น ๆ ของน้ำมันชนิดต่าง ๆ ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของคราบ หรือก้อนน้ำมันดินตัวอย่างนั้น ๆ ในการเปรียบเทียบ เพื่อให้ประเทศมีความพร้อมในการพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมัน จึงได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในข้อตกลงความร่วมมือได้กำหนดให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทำหน้าที่วิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมัน และจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เนื่องจากเป็นความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีการวิเคราะห์โดยตรง ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญที่สุด เพราะข้อมูลการวิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมัน จะเป็นต้นทางของการสร้างฐานข้อมูลและเสนอให้หน่วยงานอื่นได้ใช้ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุพันธกิจที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ยังมีแผนงานที่จะพัฒนาเทคนิคอื่นที่มีความคล่องตัวในการตรวจวิเคราะห์ร่วมกับ NECTEC โดยใช้เทคโนโลยี Raman Spectroscopy ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำมันชนิดต่าง ๆ รวมถึงประมวลผล โดยใช้เทคนิค machine learning เพื่อพัฒนาการวิเคราะห์โดยเครื่องวิเคราะห์พกพาได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย อีกด้วย

ผลกระทบ

จากเป้าหมายการดำเนินงานในการศึกษาและพัฒนากระบวนการพิสูจน์แหล่งที่มาของคราบน้ำมัน รวมทั้งวิเคราะห์ลายนิ้วมือน้ำมันและจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการแบ่งปันความคิดและการนำข้อมูลไปพัฒนาจัดสร้างฐานข้อมูลร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบหาแหล่งที่มาของน้ำมันที่แน่ชัดเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อทราบได้ว่าแหล่งที่มาของน้ำมันเป็นชนิดไหน จากแหล่งใด โดยการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ ก็จะสามารถลดการกล่าวอ้างหรือกล่าวโทษต่อผู้อื่นและหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้รับผิดชอบจะรับผิดชอบในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งรวมทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่ชะงักตัวจากเหตุที่เกิด และป้องกันการเกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก