พอลิเมอร์ชีวภาพ เช่น ไบโอเซลลูโลสที่ผลิตโดยจุลินทรีย์ ไคตินและไคโตซานที่ผลิตมาจากเปลือกกุ้ง สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อดัดแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้โดยการใช้เทคโนโลยีพลาสม่าซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ตัวอย่างเช่น การเตรียมไคโตซานที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำจากเปลือกกุ้งโดยใช้กระบวนการพลาสม่าในสารละลายเพื่อนำมาใช้ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ การพัฒนาแผ่นไบโอเซลลูโลสคอมพอสิตเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุปิดแผลที่สามารถช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผลและช่วยลดการเกิดแผลเป็น โดยใช้กระบวนการพลาสม่าในสารละลายในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในโครงสร้างที่เป็นรูพรุนของแผ่นไบโอเซลลูโลส นอกจากนี้แผ่นไบโอเซลลูโลสคอมพอสิตยังสามารถนำมาใช้ลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำได้ด้วย ส่วนสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น สารสกัดจากเมล็ดกาแฟ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในแผ่นไบโอเซลลูโลสคอมพอสิตเพื่อช่วยให้กระบวนการสมานของบาดแผลเกิดได้ดีขึ้น
ผลกระทบ (Impact)
ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้นมาได้นั้นจะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ช่วยลดปริมาณของเสีย ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์ด้วยการดัดแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยใช้ผลิตผลและผลพลอยได้ทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้นนั้นจะเป็นการสร้างโอกาสในการมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม